Branding & MarketingBusiness

ธุรกิจ SME ร้านอาหาร เราต้องรอด !!

ธุรกิจ SME ร้านอาหาร เราต้องรอด !!

ธุรกิจ SME ร้านอาหาร มารวมตัวกันทางนี้ค่ะ

สำหรับวันนี้ Admin อยากนำเสนอเรื่องราวดีๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ หรือ SME ร้านอาหาร สำหรับยุค โควิด-19 นี้นะคะ อยากให้ลองได้อ่านกันดูค่ะ Admin เชื่อว่า ในทุกๆ วิกฤติ ย่อมต้องมีโอกาส มาสู้ไปด้วยกันนะคะ

​นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ การฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารก็ถูกฉุดรั้ง จากเดิมที่คาดว่าจะดีขึ้นบ้างหลังการฝ่าฟันมรสุมในการระบาดระลอกแรกปีที่แล้วมาอย่างหนักหน่วง สมาคมภัตตาคารไทย ชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร และหลายหน่วยงานวิจัยประเมินว่า การระบาดระลอกที่ 3 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อร้านอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทร้านอาหารที่ให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ (full-service restaurant) มีกว่าหลายหมื่นร้านที่ต้องปิดตัวลงไม่ว่าจะโดยชั่วคราวหรือถาวรในช่วงที่ผ่านมา เนื่องด้วยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่จำเป็นต้องทำตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. 64 ที่ห้ามการรับประทานอาหารภายในร้านและจำกัดเวลาเปิดปิดในพื้นที่ควบคุมและพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดงเข้ม) แม้ว่าในช่วงกลางเดือน พ.ค. ถึงปัจจุบัน มาตรการจะเริ่มผ่อนคลายบ้างแล้ว โดยอนุญาตให้นั่งทานอาหารในร้านได้ไม่เกิน 25% ของที่นั่ง และเปิดให้นั่งได้ถึง 21.00 น. ก็ตาม

ผู้เขียนเติบโตและมีความผูกพันกับธุรกิจร้านอาหารเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งจากที่คุณป้าและคุณอาของผู้เขียนมีร้านอาหารหลายประเภททั้งไทย จีน ฝรั่งอยู่แถบสถานีรถไฟสามเสนและถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ และล่าสุดเพิ่งเปิดตัวร้านอาหารประเภท fine dining ในช่วงการระบาดระลอกแรกที่ผ่านมา วันนี้จึงขอเสนอข้อค้นพบจากงานวิจัย ซึ่งเผยแพร่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 แต่ยังทันสมัย ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่ร่วมทำกับวงใน (Wongnai) แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เน้นธุรกิจอาหาร พร้อมกับถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในกลเม็ดการอยู่รอดครับ

ธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งรวมถึงผับ บาร์ คาเฟ่ ร้านชาและกาแฟ เป็นส่วนสำคัญของภาคบริการในประเทศไทย จากการศึกษาข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรม ปี 2560 พบว่า ธุรกิจร้านอาหารคิดเป็น 37% ของจำนวนสถานประกอบการในภาคบริการ และ 32% ของแรงงานในภาคบริการทั้งหมด โดยสถานประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ส่วนใหญ่เป็น SMEs และกระจายอยู่ทั่วประเทศ อุตสาหกรรมนี้จึงมีความสำคัญยิ่งในการสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น รวมถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมการค้าและบริการอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว ผลการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินรายบริษัทจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ปี 2559 ยังชี้ให้เห็นว่า ในภาพรวม ธุรกิจร้านอาหารส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนไม่สูงนัก (สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์หรือ return on assets (ROA) ที่อยู่ในระดับต่ำอยู่ที่ 1.5% ต่อปี เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ ในภาคบริการที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ 4.3% ต่อปีโดยประมาณ) ขาดสภาพคล่อง (สะท้อนจากอัตราการเผาเงินหรือ cash burn rate2 โดยหากไม่มีรายรับเข้ามา ร้านอาหารส่วนใหญ่มีเงินสดพอสำหรับจ่ายต้นทุนคงที่ไปได้อีกเพียง 45 วันหรือประมาณ 1.5 เดือนเท่านั้น เมื่อเทียบกับภาคบริการอื่น ๆ ซึ่งอยู่ที่ 133 วันหรือมากกว่า 4 เดือน) และอัตราการอยู่รอดต่ำ (แม้ในช่วงที่ไม่เกิดโควิด มากกว่า 60% เป็นร้านอาหารที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี โดยการเปิดร้านอาหารตามกระแสความนิยมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ร้านอาหารไม่สามารถอยู่รอดได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ร้านชานมไข่มุก ที่มีจำนวนร้านเปิดใหม่ในปี 2562 เพิ่มขึ้นถึง 740% เมื่อเทียบกับจำนวนร้านที่เปิดใหม่ในปี 2561 อย่างไรก็ดี เกือบ 10% ของร้านชานมไข่มุกที่เปิดใหม่ในปี 2562 ต้องปิดตัวลงภายในหนึ่งปี) ดังนั้น ธุรกิจร้านอาหารจึงมีความเปราะบางอยู่แล้วเมื่อเทียบกับธุรกิจในภาคบริการอื่น ๆ ของไทย ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤต

เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ความเปราะบางนั้นยิ่งปรากฏชัด ทางสำคัญอันเป็นกลยุทธ์ในการอยู่รอดที่เข้ามาช่วยธุรกิจร้านอาหารในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน นอกเหนือจากการเพิ่มมาตรการสุขอนามัยของอาหารเป็นการสูงสุด คือ แพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งธุรกิจของครอบครัวผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในหลายพันร้านที่ได้ปรับตัวและนำมาใช้ในช่วงยากลำบากนี้ ได้ผลลัพธ์โดยมีส่วนช่วยเพิ่มช่องทางการขาย เป็นตัวกลางระหว่างร้านอาหารและลูกค้ารายใหม่ ๆ และช่วยให้ร้านอาหารที่มีคุณภาพดี มีเมนูประเภทอาหารที่เหมาะกับความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมสั่งอาหารแบบ delivery สามารถได้รายได้เข้ามาช่วยทดแทนรายได้หลักที่ขาดหายไปจากการเปิดให้นั่งทานในร้านแบบ full service ให้พอประคองตัวอยู่รอดได้ อีกทั้งทำให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นและช่วยกระจายฐานลูกค้าในวงกว้าง (ช่วยให้ธุรกิจสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางขนาดและสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงของธุรกิจจากการพึ่งพาลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกด้วย) สำหรับผู้บริโภคก็สามารถให้และใช้คะแนน review บนแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการได้ดีขึ้น 

จากข้อมูล Wongnai เราสามารถแบ่งร้านอาหารตามช่องทางการขาย ได้แก่ (1) ร้านอาหารที่ขายที่ร้านเท่านั้น (physical only) (2) ร้านอาหารที่ให้บริการส่งถึงที่เท่านั้น (delivery only) และ (3) ร้านอาหารที่ให้บริการทั้งสองประเภท (hybrid) ทั้งนี้ ร้านอาหารที่เคยเป็นแบบ physical only ส่วนหนึ่งได้มีการปรับตัวและเพิ่มการขายผ่านช่องทาง delivery ต่อเนื่อง ซึ่งได้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดระลอกแรก

อย่างไรก็ดี ณ เดือนพฤษภาคม 2563 (ข้อมูลล่าสุดจากงานวิจัย) ยังมีร้านอาหารในประเทศไทยอีกเกือบ 60% ที่ยังขายที่ร้านเท่านั้น ซึ่งถือเป็นโอกาสในการพัฒนาของธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยต่อไปและอาจเป็นหนทางประคองตัวอยู่รอดสำคัญในช่วงวิกฤตนี้ ซึ่งโดยส่วนตัว ผู้เขียนมั่นใจว่า ณ ปัจจุบันนี้ จำนวนร้านอาหารที่มีการขายแบบ delivery ย่อมสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอนแล้วตั้งแต่เกิดการระบาดระลอกใหม่ 

สุดท้ายนี้ หวังใจว่า สถานการณ์โควิด-19 ของไทยจะเริ่มดีขึ้นจากการฉีดวัคซีนให้เร็วและทั่วถึงที่สุด จนผู้บริโภคปลอดภัย หายกลัวและสามารถกลับมาใช้บริการในร้านอย่างเต็มรูปแบบได้ ไม่เช่นนั้น หากการระบาดยังคงรุนแรง มาตรการป้องกันยังคงต้องขยายเวลา นอกจากผู้ประกอบการที่ต้องพึ่งตนเองโดยการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างเต็มที่แล้ว ภาครัฐก็คงต้องเร่งเยียวยาช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อประคองตัวธุรกิจร้านอาหารซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญของเศรษฐกิจไทย ให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้มากร้านที่สุดเท่าที่จะมากได้ครับ…

ผู้เขียน : 
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด”
นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน 2564

ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ฝากกดติดตามกันด้วยนะครับ

Show More

GREATITUDE Live

เรื่องราวดีๆ ที่ต้องแบ่งปัน

Related Articles

Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save