Branding & MarketingBusiness

SME จะปลดล็อคอย่างไร ให้ผ่านพ้นวิกฤติ โควิด-19

SME จะปลดล็อคอย่างไร ให้ผ่านพ้นวิกฤติ โควิด-19

สำหรับวันนี้ Admin จะขอนำเสนอบทความเนื้อหาดีๆ สำหรับ SME ที่จะปรับตัวให้อยู่รอดและผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 นี้กันให้ได้นะคะ

การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกเดือนเมษายนทำให้เศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต้องเผชิญกับวิกฤติอีกครั้ง หลายธุรกิจเผชิญผลกระทบตั้งแต่รายได้ลดลงไปจนถึงการปิดกิจการชั่วคราว โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในภาคที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การบริการและการค้า จากข้อมูลโครงสร้างธุรกิจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปี 2563 พบว่า SMEs จ้างงานมากถึง 12.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของการจ้างงานภาคธุรกิจในปี 2563 จึงมีบทบาทสำคัญทั้งต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก บทความนี้จะกล่าวถึงแนวทางการปรับตัวและการช่วยเหลือเพื่อปลดล็อก SMEs จากปัญหาที่เผชิญอยู่ให้สามารถปรับตัวไปสู่โลกยุคหลัง COVID-19 ได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถจำแนกได้เป็น 4 ด้านที่สำคัญ คือ

ประการแรก ด้านรายได้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้รายได้ SMEs ลดลงจากกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอ มาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องช่วยพยุงการบริโภคได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยทำให้กำลังซื้อปรับตัวดีขึ้นคือ การเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว จากการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจการท่องเที่ยวเพื่อประเมินภาพเศรษฐกิจของคณะทำงานสายนโยบายการเงิน ธปท. พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจกว่าครึ่งพร้อมที่จะกลับมาทำกิจกรรมและเดินทางท่องเที่ยวตามปกติ หากมีผู้ฉีดวัคซีนในประเทศถึงระดับที่เกิด herd immunity ภาครัฐจึงต้องมีการบริหารจัดการให้มีการกระจายวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับการสร้างความเข้าใจ หรือมีมาตรการจูงใจให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผนที่วางไว้

ประการที่สอง ด้านต้นทุนด้านสาธารณสุขของผู้ประกอบการสูงขึ้น จากการปรับตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญความเสี่ยงด้านการผลิต อาทิ ค่าขนส่งที่สูงขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ต้นทุนราคาโลหะและเหล็กที่สูงขึ้น เป็นต้น ที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่พยายามปรับลดต้นทุนเท่าที่จะทำได้ แต่ยังมีต้นทุนบางส่วนที่ภาครัฐสามารถช่วยเหลือชั่วคราวได้ เช่น ภาษีรถโดยสารสาธารณะ ภาษีป้าย การงดเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าในกลุ่มสารฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น นอกจากนี้ ภาครัฐอาจขยายขอบเขตความช่วยเหลือในการช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานผ่านมาตรการ co-payment ไปยัง SMEs ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม

ประการที่สาม ด้านสภาพคล่อง การขาดรายได้พร้อมกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ขณะที่การปรับราคาทำได้ยาก ส่งผลให้ SMEs จำนวนมากขาดสภาพคล่องและเข้าสู่วิกฤติทางการเงิน ธุรกิจที่เคยมีศักยภาพจำเป็นต้องปิดกิจการทั้งชั่วคราวและถาวร ขณะที่การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อพยุงธุรกิจของ SMEs เป็นกุญแจสำคัญ การแก้ไขปัญหาด้านการเข้าถึงสินเชื่อนี้ ภาครัฐ รวมถึง ธปท. และสถาบันการเงิน จึงได้ร่วมกันออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสและกลไกในการเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงินในราคาที่เป็นธรรม นอกจากนี้ ในวิกฤติครั้งนี้ เราได้เห็นผู้ประกอบการรายใหญ่ หลายรายก็ได้เข้ามาช่วยเหลือทั้งการลดค่าเช่า และการเพิ่มค่าส่วนแบ่งกำไรสินค้าและบริการ เพื่อให้ SMEs สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และที่สำคัญไปกว่านั้น มีความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ใน ภาคการค้า ได้แก่ บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น และ เดอะมอลล์ กรุ๊ป กับสถาบันการเงินที่ร่วมกันสร้างกลไกประสานความช่วยเหลือระหว่างสถาบันการเงินกับคู่ค้ารายย่อย ด้วยการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการขอสินเชื่อของ SMEs ที่เป็นซัพพลายเออร์และคู่ค้าของบริษัท ทำให้ SMEs มีเอกสารรับรองศักยภาพของธุรกิจเพื่อยื่นขอสินเชื่อ ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใหญ่รายอื่นหรือภาคธุรกิจอื่นนำ รูปแบบดังกล่าวไปใช้เพื่อช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะช่วยขยายผลให้ SMEs ที่มีศักยภาพสามารถอยู่รอดได้มากขึ้น 

ประการสุดท้าย ด้านทรัพยากร ที่ครอบคลุมตั้งแต่ด้านแรงงานที่มีทักษะสำหรับโลกยุคใหม่ ไปจนถึง เทคโนโลยีที่ช่วยให้การผลิตและบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ SMEs ไทย เผชิญมาอย่างยาวนาน สามารถแก้ปัญหาได้โดยพึ่งพากลไกของภาครัฐเป็นสำคัญ ทั้งการเพิ่มแต้มต่อให้  SMEs และลดข้อจำกัดของการเข้าถึงทรัพยากรส่วนรวม เช่น การส่งเสริมและพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการ การยกเลิกกฎหมายล้าหลัง เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ SMEs เองก็ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยาก อาทิ การนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน รวมถึงเพิ่มช่องทางและโอกาสทางธุรกิจ เป็นต้น ตัวอย่างที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ คือ การจัดตั้งกองทุน restart ธุรกิจหลัง COVID-19 ที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนรายใหญ่เพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยภาครัฐเสนอสิทธิพิเศษทางภาษีให้แก่ผู้ลงทุนในกองทุน

ท้ายนี้ การที่ธุรกิจ SMEs จะสามารถปลดล็อกตัวเองจากปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐที่ช่วยเร่งกระจายฉีดวัคซีนเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นกลับมาโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือด้านต้นทุน และสภาพคล่อง จากทั้งภาครัฐ สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นคู่ค้า เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดต่อไป ในขณะที่ SMEs เองก็ต้องปรับตัว และเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า

ผู้เขียน:
แลนด์ สนธิชาติกุล
ชุติกา เกียรติเรืองไกร
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

คอลัมน์ “แจงสี่เบี้ย” นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 22 มิ.ย. 2564

ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ฝากกดติดตามกันได้นะคะ

Show More

GREATITUDE Live

เรื่องราวดีๆ ที่ต้องแบ่งปัน

Related Articles

Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save